เรื่องน่าสนใจไอที-โทรคมฯ

ปี 2554 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีเรื่องร้ายแรงช็อกวงการไอที ทั้งที่เกิดในต่างประเทศและต้นเหตุในประเทศไทย จากมหาอุทกภัยที่ทำให้โรงงานฮาร์ดดิสก์ในประเทศไทยหยุดผลิต ส่งผลกระทบวงกว้างถึงอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลร้ายแรงไม่ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งครั้งอดีต การจากไปของสตีฟ จ็อบส์ ผู้จุดกระแส สร้างความแตกต่าง กระตุ้นความอยากทำให้ผลไม้ธรรมดากลายเป็นแอปเปิลทองคำ
       
       ทั้ง 2 เรื่องทำให้โลกไอทีหยุดหายใจไปชั่วขณะ แต่ชีวิตต้องเดินต่อไป ท่ามกลางข่าวร้าย คนไทยยังโชคดีที่ได้ใช้ 3G สักทีท่ามกลางการเติบดตและแข่งขันดุเดือดของสมาร์ทโฟน ขณะที่สวนดุสิตโพลสำรวจกระทรวงไอซีทีผลงานน่าผิดหวังที่สุด ทั้งหมดคือ 5 เรื่องร้อนๆวงการไอทีของปี 2554
       
       น้ำท่วมไทย พีซีโลกสำลัก
       
       เป็นข่าวไปทั่วโลกว่าวิกฤตน้ำท่วมไทยปี 54 มีแววกระทบถึงอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์พีซีโลกแน่นอน เพราะฮาร์ดดิสก์จะเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดตลาดเนื่องจากฐานการผลิตหลักในประเทศไทยจมบาดาล
       
       วิกฤติน้ำท่วมไทยทำให้โรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำหรับเก็บข้อมูลดิจิตอลต้องหยุดสายพานการผลิตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2011 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟขาดตลาดในช่วงกลางเดือนพ.ย. เบื้องต้นเชื่อจำนวนการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟโลกในไตรมาส 4 ปี 2011 จะลดลงราว 50% และอาจส่งผลต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2012 บนความเสียหายที่รุนแรงกว่าสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
       
       ทุกคนรู้ดีว่าคอมพิวเตอร์พีซีไม่สามารถจำหน่ายได้โดยไม่มีฮาร์ดดิสก์ เมื่อพีซีจำหน่ายไม่ได้ ยอดการสั่งซื้อชิปคอมพิวเตอร์ (อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์) ก็ส่อแววฝืดเคืองตามไปด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบแบบลูกโซ่ ท้ายที่สุด ยักษ์ใหญ่ตลาดพีซีอย่างเดลล์ เอชพี เลอโนโว เอเซอร์ และรายอื่นๆล้วนมีโอกาสธุรกิจชะงัก โอกาสที่ความเงียบเหงาจะเกิดในตลาดคอมพิวเตอร์พีซีโลกช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2012 จึงมีสูง
       
       อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสดีที่ตลาดคอมพิวเตอร์พกพาขนาดบางพิเศษจะขยายตัว (อัลตราบุ๊ก) เพราะอัลตราบุ๊กไม่ได้ใช้ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเป็นส่วนประกอบ แต่ใช้หน่วยความจำ SSD ซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าบนราคาแพงที่กว่า ซึ่งการขาดตลาดของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ อาจจะทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพื่อให้มีโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ใช้งาน

แอปเปิล-ซัมซุง คู่แข่งสมาร์ทโฟน
       
       เหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการโทรศัพท์มือถือในบ้านเราคงหนีไม่พ้นการมาของสุดยอดสมาร์ทโฟนหลายๆรุ่น ไม่ว่าจะเป็นกระแสของ iPhone 4 ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากของขาดสต็อก
       
       ส่วนในช่วงกลางปีก็เป็นทีของแอนดรอยด์ที่ทยอยเข้ามาทำตลาดหลากหลายรุ่น และชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปิดท้ายปีด้วยการมาของไฮเอนด์สมาร์ทโฟนอย่าง iPhone 4S และ Galaxy Nexus ส่งผลให้ปี 2554 ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่สมาร์ทโฟนยังครองใจผู้บริโภคหลายๆคน และอาจะลากยาวไปถึงปีหน้าก็เป็นได้
       
       โดยในส่วนของแบรนด์โทรศัพท์มือถือ ก็มีการเปลี่ยนอันดับกันอย่างถาวรแล้ว หลังจากซัมซุงรุกหนักเพื่อให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของตลาด จากการรุกไล่ทำตลาดสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในทุกช่วงราคา ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น Galaxy S2 แต่จากนโยบายล่าสุดจากบริษัทแม่ ส่งผลให้ทางผู้บริหารซัมซุงต้องปิดปากเงียบถึงตัวเลขความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีนี้ไปโดยปริยาย
       
       ส่วนทางโนเกียเอง หลักจากเริ่มรุกไปในตลาดโทรศัพท์ 2 ซิม ก็ทำให้ปีนี้มีการล้มหายตายจากของเฮาส์แบรนด์ คงเหลืออยู่แต่เพียงรายใหญ่ๆอย่าง จีเน็ต เวลคอมม์ และไอ-โมบาย ที่เริ่มหันมาให้ความสนใจในตลาดสมาร์ทโฟนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท หลังส่วนแบ่งจากการขายฟีเจอร์โฟนทำกำไรให้ไม่มากพอ

สิ้น 'สตีฟ จ็อบส์' แอปเปิลยังต้องโตต่อไป
       
       เพียง 1 วันหลังการเปิดตัว iPhone 4S โลกต้องตกตะลึงกับข่าวการเสียชีวิตของชายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณและทุกสิ่งทุกอย่างของแอปเปิล โดยสตีฟ จ็อบส์เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 56 ปีที่บ้านพักในเมืองปาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย เชื่อกันว่าสาเหตุการเสียชีวิตคือโรคมะเร็งตับอ่อนซึ่งคุกคามจ็อบส์มาตั้งแต่ปี 2004
       
       สตีฟ จ็อบส์นั้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสินค้ายอดนิยมของแอปเปิลทั้งไอโฟน ไอพ็อด ไอแพด และคอมพิวเตอร์แมคอินทอช หลังการเสียชีวิตในวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ชื่อสตีฟ จ็อบส์กลายเป็นข่าวเด่นที่สำนักข่าวทุกสำนักให้ความสำคัญ โดยหนังสือชีวประวัติของจ็อบส์กำลังถูกโซนี่เอนเตอร์เทนเมนต์นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภายใต้คนเขียนบทคนเดียวกับเรื่อง The Social Network ซึ่งคาดว่าโลกจะได้รับชมในช่วงปี 2012
       
       แม้ความสำเร็จของแอปเปิลในวันนี้ถูกยกให้เป็นความดีของจ็อบส์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำงานละเอียดและใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยระดับตำนาน แต่นักสังเกตการณ์ทั่วโลกส่วนใหญ่ฟันธงว่า การจากไปของจ็อบส์จะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อแอปเปิลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ เนื่องจากแอปเปิลยังมีตัวแทนของจ็อบส์ที่สามารถเดินตามแผนและกำหนดการคลอดสินค้าช่วง 1-2 ปีซึ่งถูกวางแผนล่วงหน้าเรียบร้อยภายใต้การบริหารของจ็อบส์ แต่คำถามที่แท้จริงคือในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่แอปเปิลไม่มีจ็อบส์เป็นผู้กำกับอีกต่อไป
       
       แอปเปิลในวันนี้สามารถเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากอันดับ 2 ของโลกนับตั้งแต่จ็อบส์กลับมาบริหารงานในปี 1996 จุดยืนของแอปเปิลมีความแตกต่างจากบริษัทอื่นในซิลิกอนวัลเลย์เพราะแอปเปิลคือ'ผู้สร้างรสนิยม'ไม่ใช่ผู้สร้างซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ ทั้งหมดนี้ทำให้แอปเปิลถูกคาดหวังสูงมากในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใดๆสู่ตลาด ซึ่งแอปเปิลจะต้องยืนได้ด้วยตัวเองบนสังเวียนไอทีที่ไม่อาจพลาดได้แม้แต่ก้าวเดียว

กสทช. รอสางปม 3G
       
       หลังจากรอคอยกันมากว่า 10 ปี กับการเปิดใช้งานมาตรฐานโทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 (3G) ของหลากหลายโอเปอเรเตอร์ในไทย ในปี 2554 ก็ถือเป็นปีแรกที่เริ่มมีการนำ 3G เข้ามาทำตลาดกันอย่างจริงกัน ช่วยให้ชาวไทยได้เขาถึงพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนสมาร์ทโฟนกันเสียที
       
       รายที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นแบรนด์ 'ทรูมูฟ เอช' ภายใต้ บริษัท เรียลมูฟ หลังจากที่เข้าทำสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทการขายส่งและบริการขายต่อบริการ กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ส่งผลให้สามารถเปิดให้บริการ 3G HSPA+ เชิงพาณิชย์ พร้อมการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงกลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ถือว่ามีพื้นที่ให้บริการ 3G มากที่สุด
       
       ทั้งนี้ ในปี 2554 นี้ก็มีการเกิดใหม่ขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. ที่เริ่มดำเนินการตรวจสอบสัญญาดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 46 จึงได้มีการสั่งตั้งคณะอนุกรรมการมาตรา 46 เพื่อตรวจสอบสัญญาการตลาดรูปแบบใหม่ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม กับกลุ่มทรู เพื่อให้ใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ดังนั้นสัญญานี้จะหมู่หรือจ่า ยังคงต้องรอดูกันต่อไป
       
       ส่วนดีแทค และ เอไอเอส ก็ยังรอคอยความหวังกับการเปิดประมูล 3G บนคลื่นความ 2.1 GHz ที่ กสทช. คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 ทำให้ในระหว่างนี้ จึงทำการแบ่งช่วงคลื่นความถี่ 2G เดิมมาให้บริการ 3G ไปพลางๆ ส่งผลให้ความเร็วและพื้นที่ในการให้บริการยังไม่กว้างขวางและสเถียรเท่าที่ควร

ตลาดแท็บเล็ต ไอแพด 2 ยังครองแชมป์
       
       แม้ว่าปีนี้จะมีแท็บเล็ตออกมาวางจำหน่ายในตลาดมากมาย ซึ่งที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นไอแพด แม้ว่าส่วนแบ่งในตลาดโลกช่วงที่ผ่านมาจะอยู่ที่ราว 65-70% แต่ในประเทศไทยส่วนแบ่งตลาดของไอแพดกลับสูงถึงเกือบ 90% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ไอแพด 2 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการเข้ามาร่วมทำตลาดกับโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทย หลังจากเดิมที่ขายแต่ในไอสตูดิโออย่างเดียว
       
       ส่วนการเข้ามาของแอนดรอยด์แท็บเล็ต อย่าง Galaxy Tab จากซัมซุง ที่ขนไลน์สินค้ามาไล่กันตั้งแต่ 7 นิ้ว 8.9 นิ้ว และ 10.1 นิ้ว รวมกับการทำตลาดของค่ายคอมพ์อย่างเอเซอร์ และเอซุส ก็ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้แอนดรอยด์ได้ไม่น้อย แต่การแข่งขันในตลาดนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะปีหน้ายังมีกองทัพแท็บเล็ตจากอีกหลากหลายเวนเดอร์เข้ามาสร้างความนิยมในตลาด พร้อมกับการเกิดของดิจิตอล คอนเทนต์ท้องถิ่นด้วย

กระทรวงไอซีที ไร้ผลงาน
       
       อาจจะเพราะเห็น น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ผลุบๆโผล่ๆที่ ศปภ. ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมจนลืมงานประจำที่กระทรวง ประกอบกับวาทะเด็ดในการปราบเว็บหมิ่นฯด้วยการรณรงค์ 'ถ้าพบเห็นการโพสต์ข้อมูล และข้อความหมิ่นสถาบัน กรุณาอย่ากด Like หรือคอมเมนต์ เพราะจะเป็นการสร้างกระแส และเผยแพร่ทางอ้อม'
       
       ส่งผลให้การสำรวจของ 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในรอบ 4 เดือน พบว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กลับได้คะแนนบ๊วยสุดที่ 5.84 คะแนน
       
       แต่ก็ยังมีข่าวดีในเรื่องของการให้บริการฟรีไว-ไฟ ตามแผนงานในเฟสที่ 1 จะให้บริการทั้งหมด 20,000 จุด โดยจะเริ่มทยอยเปิดบริการในแต่ละพื้นที่ และคาดว่าจะเปิดบริการได้ทั้งหมดภายในต้นเดือนม.ค.ปี 2555 ที่พอจะให้จับต้องได้บ้าง

โซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อกลางภาคประชาชนบนโลกออนไลน์
       
       ต้องยอมรับกันว่าการเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์กในปีนี้ ช่วยผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของภาคประชน ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ที่รัฐไม่สามารถเข้าถึง แถมยังเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล และกระจายข่าวสารได้เร็วที่สุดอีกด้วย
       
       การเกิดขึ้นของกลุ่ม 'Thaiflood' ถือเป็นปรากฏการณ์รวมตัวกันของกลุ่มคนบนโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ ร่วมกันแจ้งข้อมูล ข่าวสาร จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันเข้าไปเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
       
       ยังไม่นับรวมกับการเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่ม 'รู้ สู้! Flood' ที่ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในภาวะน้ำท่วม ไล่ไปจนถึงสิ่งที่ควรทำหลังน้ำลด จากยอดเข้าชมในยูทูบกว่า 3 ล้านครั้ง และหน้าแฟนเฟจในเฟซบุ๊กอย่าง 'อาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย' 'Thonburi Flood Report' 'น้ำขึ้น ให้รีบบอก และอื่นๆอีกมากมาย'

หมดยุค Flash บนมือถือ
       
       โลกต้องบันทึกว่า ปี 2011 คือปีที่รูปแบบไฟล์ภาพเคลื่อนไหวนามสกุลแฟลช (flash) ถูกตัดสินว่าจะไม่มีการพัฒนาเพื่อเปิดชมบนอุปกรณ์พกพาอีกต่อไป โดยอโดบี (Adobe) ประกาศหยุดพัฒนาโปรแกรมเล่นไฟล์ภาพเคลื่อนไหว 'แฟลชเพลเยอร์ (Flash Player)' สำหรับทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ในอุปกรณ์พกพาอย่างเป็นทางการ แล้วหันมารองรับมาตรฐาน HTML5 แทน
       
       แฟลชเป็นหนึ่งในรูปแบบไฟล์ภาพเคลื่อนไหวที่สำคัญมากที่สุดในโลกเว็บไซต์มานาน โดยเฉพาะในวงการวิดีโอและเกมออนไลน์ เพราะรองรับอุปกรณ์พกพาหลากหลาย แต่จุดจบของแฟลชบนอุปกรณ์พกพาส่อเค้าลางมาตั้งแต่แอปเปิล (Apple) และสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ปฏิเสธที่จะสนับสนุนแฟลชในอุปกรณ์พกพาตระกูลไอทั้งไอโฟน ไอแพด และไอพ็อดทัชช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ กระทั่งไมโครซอฟท์ที่ขานรับเลิกสนับสนุนแฟลชเพราะปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยต่อระบบ
       
       เทคโนโลยีที่จะมาแทนแฟลชคือ HTML5 แพลตฟอร์มที่นักโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาแอปพลิเคชันให้ความสนใจมากกว่า เพราะเหมาะสมกับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพา ปลอดภัย และเสรี ทั้งหมดนี้อโดบีระบุว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนา HTML5 ด้วยเทคโนโลยีและทรัพยากรที่อโดบีมี ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาแฟลชต่อไปในอุตสาหกรรมที่แฟลชยังมีอิทธิพลอยู่ ทั้งอุตสาหกรรมเกมและวิดีโอออนไลน์ โดยแฟลชจะยังถูกพัฒนาอยู่ต่อไปในรูปแอปพลิเคชันและยังรองรับการใช้งานบนคอมพิวเตอร์พีซีที่ใช้เบราว์เซอร์มาตรฐาน
       
       ผู้ใช้อุปกรณ์พกพาทั่วโลกจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากอวสานของแฟลชในครั้งนี้ เพราะนักพัฒนาที่ยังยึดมั่นกับแพลตฟอร์มแฟลชจะได้รับเครื่องมือเพื่อแปลงชุดคำสั่งให้ทำงานบนแพลตฟอร์ม Adobe AIR ซึ่งผู้บริโภคจะสามารถเปิดชมและใช้งานแฟลชได้ตามปกติ ขณะที่โปรแกรมแพลตฟอร์ม HTML5 ก็จะสามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติ และจะแพร่หลายต่อเนื่องไปไม่รู้จบ

โนเกีย-ไมโครซอฟท์ / โมโตฯ-กูเกิล กับดีลประวัติศาสตร์
       
       การประกาศจับมือกันระหว่างโนเกีย และไมโครซอฟท์ ในวันที่ 11 ก.พ. 2554 กลายเป็นข่าวช็อคไปทั้งวงการโทรคมนาคม เมื่อพี่ใหญ่ด้านโทรศัพท์มือถือ และเจ้าพ่อธุรกิจซอฟต์แวร์ จับมือกันเพื่อรวมกัน หวังเป็นแรงช่วยขับเคลื่อนทั้ง 2 บริษัท ออกจากช่วงขาลงในธุรกิจสมาร์ทโฟน
       
       สิ่งที่โนเกียต้องการจากไมโครซอฟท์คงหนีไม่พ้นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน ที่ทำท่าว่าจะไปได้สวยในตลาดยุโรป ประกอบกับการที่ MeeGo ซึ่งโนเกียเคยวางไว้เป็นโอเอสสมาร์ทโฟนของตนเอง ได้รับการตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนไมโครซอฟท์เองก็ต้องการฐานลูกค้าของโนเกีย
       
       ดังนั้นการประกาศจับมือกันระหว่าง สตีเฟ่น อีล็อป ซีอีโอโนเกีย อดีตลูกหม้อไมโครซอฟท์ และสตีฟ บอลเมอร์ ซีอีโอไมโครซอฟท์ จึงกลายเป็นข่าวที่กระตุ้นการแข่งขันในวงการได้ไม่น้อย
       
       ในส่วนของโมโตโรล่าหลักจากที่มีการแยกส่วนธุรกิจออกมาเป็นกลุ่มธุรกิจโมบิลิตี้ กูเกิลซึ่งกำลังตกอยู่ในปัญหาการฟ้องร้องสิทธิบัตรแอนดรอยด์ จึงจำเป็นต้องการหาบริษัทที่มีสิทธิบัตรในการคิดค้นและพัฒนาแอนดรอยด์ให้แข็งแกร่งขึ้น ทางออกจึงมาตกอยู่ที่การทุ่มซื้อหน่วยธุรกิจของโมโตโรล่าด้วยมูลค่าเงินกว่า 1.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
       
       ซึ่งเมื่อขั้นตอนการเข้าซื้อแล้วเสร็จ จะทำให้กูเกิลในฐานะผู้คิดค้นระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรจำนวนมากของโมโตโรล่าแล้ว ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กูเกิลสามารถเข้าไปทำตลาดสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ ที่เริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐฯอีกด้วย

ฟ้องร้องสิทธิบัตร
       
       แน่นอนว่าจากการที่ยอดขายทั้งสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการฟ้องร้องในแง่การที่แบรนด์อื่นทำสิทธิบัตรที่เจ้าของแบรนด์จดไว้ไปใช้ รวมถึงในแง่ของการออกแบบตัวเครื่อง ส่งผลให้ในบางประเทศเกิดการสั่งห้ามวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางชนิดไป
       
       โดยการฟ้องร้องหลักๆยังคงเกิดขึ้นกับแอปเปิล ที่ไล่ฟ้องผู้ผลิตแอนดรอยด์หลายราย รวมทั้งซัมซุง และ เอชทีซี ที่มีการละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิล ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี และตัดสินเสร็จแล้วอย่างล่าสุด เอชทีซีถูกสั่งห้ามจำหน่ายสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ ถ้าไม่นำส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิลออก ดังนั้น มหากาฬการฟ้องร้องระหว่าง 3 ยักษ์ใหญ่ไอที แอปเปิล-กูเกิล-ไมโครซอฟท์ ยังมีให้ติดตามต่อไปแน่นอน
       

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


orawan

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ