รับมือโรคร้ายกล้ำกรายปี 2012
รับมือโรคร้ายกล้ำกรายปี 2012
'ปี 2012 วันสิ้นโลก..' คำพยากรณ์ของชนเผ่ามายาจากปฏิทินของพวกเขาที่กำหนดวันสุดท้ายของโลก ณ วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ....หลายคนกังวลกับคำทำนายดังกล่าวว่า โลกจะถึงกาลอวสานจริงหรือไม่ น้ำจะท่วมโลก โลกจะแตก และจะเหลือแผ่นดินสักกี่ส่วน
หากมองอีกมุมหนึ่งอาจเป็นการเตือนให้ระวังภัยในรูปแบบต่างๆ มากกว่า เนื่องจากอย่าลืมว่าช่วงที่ผ่านมาภัยธรรมชาติได้เกิดถี่ขึ้น อย่างน้ำท่วมครั้งล่าสุดก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรประมาทโดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำ แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปี 2554 ประเทศไทยไม่พบโรคระบาดร้ายแรง มีเพียงการเตือนภัย เฝ้าระวังโรคจากน้ำท่วม ทั้ง โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอส-โอทีอาร์ เอช 3 เอ็น 2 (S-OtrH 3 N 2)หรือไข้หวัดใหญ่ไอโอวา 2011 ซึ่งพบในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกเชื้อที่ทำให้คนไทยหวาดวิตกไม่น้อย จนกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันว่า ไม่พบในไทย ที่สำคัญไม่ใช่เชื้อน่ากลัวมีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่เพื่อความปลอดภัยได้เตรียมคณะทำงานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว
งานนี้ยืนยันได้จากโฆษก คร. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ว่าไม่พบไข้หวัดใหญ่ไอโอวา 2011 ในไทย สิ่งสำคัญควรมาเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่จะเกิดขึ้นปีมะโรง 2555 ซึ่งเป็นการคาดการณ์จากปีก่อนๆ ที่พบมาโดยตลอด แม้บางโรคจะไม่พบการระบาดแล้ว แต่ก็ประมาทไม่ได้
เริ่มจาก 'ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009' เป็นเชื้อที่ผสมระหว่างไข้หวัดที่พบในคน ในนกทวีปอเมริกาเหนือ และในหมูได้ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบันยังพบผู้ป่วยอยู่
'ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล' เป็นการติดเชื้อ Influenza virus ซึ่งเป็นเชื้อปกติตามฤดูกาล 'โรคไข้หวัดนก'หรือไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก เป็นโรคเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 5 เอ็น 1 (A H5N1) แม้ปัจจุบันไทยจะไม่พบการระบาดแล้ว แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เพราะในต่างประเทศยังพบ โอกาสบินข้ามทวีปมีความเป็นไปได้สูง
'โรคติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรค หรือมือ เท้า ปาก' เป็นเชื้อไวรัสในลำไส้มนุษย์ แต่มีหลากหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคมือ เท้า ปากได้ทั้งนี้ พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย มีเพียงไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย มีร่วมกับตุ่มพองเล็กๆเกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก
'โรคชิคุนกุนยา' โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เลือดออกเด็งกี่ ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงฉับพลันและอาจช็อกได้
'โรคหูดับ' สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยอาจมาจากการสัมผัสโดยตรง เช่นติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก อาการที่พบได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง นอกจากนี้ พวกโรคทางเดินอาหารก็ยังต้องระวังเช่นกัน
ไม่เพียงแค่โรคเหล่านี้ กุนซือด้านโรคไวรัสและสมอง ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์แนวโน้มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป จะมีโรคที่ต้องระวังหลักๆ อาทิ'โรคที่มาจากแมลงพวกยุง เห็บ ริ้น' โดยเฉพาะยุงลาย อาจนำไปสู่โรคไข้เลือดออกยิ่งขณะนี้มีสายพันธุ์ใหม่จากจีนยิ่งต้องระวัง แม้จะยังไม่เข้าประเทศไทยก็ตาม
'โรคจากสัตว์บินได้' โดยเฉพาะค้างคาวที่ต้องระวัง เพราะอาจนำเชื้อไวรัสได้ถึง 80 ชนิด ซึ่งก่อให้เกิดไข้สมองอักเสบ'โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ'ทั้งไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่ที่ต้องระวังคือ การผสมพันธุ์ระหว่างไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด จนอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ หรืออาจเป็นการผสมของไข้หวัดนกที่ไปผสมกับไข้หวัดทั่วไปก็อาจเกิดขึ้นได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในหมูก็พบว่ามีการติดเชื้อระหว่างไข้หวัดหมูกับหวัด2009ซึ่งตรงนี้ต้องระวังพวกสัตว์ที่อาจนำโรคมาสู่คนด้วย
ที่ต้องระวังอีกโรคคือ 'โรคไข้เลือดออก สายพันธุ์อีโบล่า' เป็นอีกเชื้อที่พบในฟิลิปปินส์ โดยเริ่มแรกพบการติดเชื้อในลิง จากนั้นประมาณ 2-3 ปีก็พบสายพันธุ์อีโบล่า เรสตัน (Ebola Reston) ในหมู แต่ยังไม่แพร่ไปยังคน แต่ก็น่ากังวลว่าเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่ามาจากค้างคาวด้วย